Pee-Mak-Phra-Kanong
ใคร ๆ ก็คงจะรู้เรื่องราวตำนานของแม่นาค พระโขนง ผีตายท้องกลม เป็นเรื่องผีอีกเรื่องที่คนไทยได้ยินได้เห็นมาตลอดผ่านยุคสมัย สื่อต่าง ๆ และวัฒนธรรม การกลับมาในรูปแบบของภาพยนตร์อีกครั้งในชื่อของพี่มาก พระโขนง ที่แสดงให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่ชื่อเรื่องว่ามันจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมและแสดงถึงมุมมองที่น่าสนใจของหนังตั้งแต่ชื่อเรื่อง
*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง*
ถ้าจะมีคำถามว่าหนังเรื่องนี้สนุกไหม ก็คงต้องตอบว่าสนุก ถามว่าตลกไหม ก็คงตอบว่าตลก ความตลกของมันถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของเรื่องราวและจังหวะการเล่าเรื่องที่สามารถทำให้ผู้ชมบันเทิงได้อย่างเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีจังหวะที่เห็นได้ชัดว่ามันถูกยัดเยียดมาเพื่อให้ขำเป็นมุกตลกคาเฟ่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดที่จะสามารถตราหน้าว่าได้เป็นมุกตลกที่ปัญญาอ่อนได้ ถึงแม้จะมีหลายช่วงจังหวะที่มันเล่นกับความงี่เง่าของตัวละครรวมถึงความไม่สมจริงและเหตุผลหลายอย่างที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกลบประเด็นที่ผ่านมาอย่างขอไปทีอยู่เยอะ แต่ก็คงต้องกล่าวไว้ว่ามันเป็นความตั้งใจของหนัง มากกว่าที่จะเป็นจุดผิดพลาดของหนังที่ผู้สร้างเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เพื่อที่จะสร้างความบันเทิงเสียมากกว่า เพราะว่าถ้าหากพิจารณาแล้ว จุดที่โดนกลบเกลื่อนนั้นถึงจะสมจริงมากน้อยก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อหนังมากมายเสียเท่าไหร่ เพียงแต่บางจุดบางประเด็นมันสามารถนำไปต่อยอดได้น่าสนใจมากกว่านี้ รวมถึงหากผู้ชมคนไหนสะกิดใจขึ้นมามันก็ลดทอนอารมณ์ร่วมที่มีกับหนังไปได้มากอยู่
แต่ถ้าจะให้กล่าวถึงความน่าสนใจของ พี่มาก พระโขนง ก็มีได้หลายอย่าง อย่างแรกก็คือบรรยากาศทีเล่นทีจริงของหนัง มันเป็นหนังอีกเรื่องที่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา การหยอกล้อตัวมันเองและประวัติศาสตร์ที่ทำได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่นการประกาศตัวตั้งแต่ฉากแรก ๆ ของหนังว่าด้วยการที่ให้ตัวละครคนหนึ่งพูดด้วยถ้อยคำไทยโบราณก่อนที่จะโดนตักเตือนว่าไม่จำเป็นต้องพูดอะไรที่โบราณขนาดนั้น และนอกจากการใช้ภาษาแล้วก็ยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อมในท้องเรื่องที่แฝงไปด้วยความร่วมสมัยอย่างร้านเหล้าดองปั่น รวมถึงบทสนทนาหลาย ๆ จุดที่เต็มไปด้วยความเป็นปัจจุบัน การที่หนังวางเซตติ้งได้เด่นชัดเช่นนี้นอกจากจะทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกถึงความแปกลแยกแล้ว ยังทำให้หนังสามารถเล่นกับบทสนทนาได้อย่างน่าสนใจมากขึ้น
ความจงใจของหนังอีกอย่างหนึ่งของผู้ชมก็คือการจงใจที่จะใส่จุดต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเปลี่ยนความคิดหรือหักเหสันนิฐานที่ตนเองตั้งไว้ได้อย่างตลอดเวลา และการที่หนังไม่สมจริงก็เลยสามารถหลอกผู้ชมและทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดได้มากขึ้นโดยไม่รู้สึกขัดใจ หรือจะให้กล่าวอีกมุมมองหนึ่งก็คือสิ่งที่ตัวละครเรื่องนี้เห็นเป็นภาพที่มองผ่านมุมมองและทัศนคติจากตัวละครในเรื่องอีกทีหนึ่ง มันเป็นมุมมองที่ไม่เป็นกลางตั้งแต่เดิมอยู่แล้ว มันจึงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หากคิดแบบนั้นแล้ว น้อยมากที่เราจะได้เห็นมุมมองที่เป็นกลางที่สุดจากในเรื่องนี้ นับจากเริ่มแรกเรามองเห็นมุมมองของชาวบ้านที่มีต่อนาคที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว
ตัวละครอื่น ๆ ก็เช่นกันจนกระทั่งมีอะไรสะกิดพวกเขา (ยกตัวอย่างเช่นฉากที่มากตะคริวกินขาในคลอง) ถึงจะตบให้พวกเขาตาสว่างได้ กล่าวคือตลอดเวลาผู้ชมเองก็ไม่สามารถรู้ไปได้มากกว่าตัวละครเลยว่าอะไรคือความจริงอะไรคือความลวง และหนังเองก็ไม่ได้เฉลยทุกอย่างออกมาอย่างตรง ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเรื่องไหนเป็นความจริงเรื่องไหนใส่ร้าย หรือใครเป็นฝ่ายที่เริ่มทำใครก่อน อย่างเช่นถ้อยคำจากฝั่งชาวบ้านที่ใส่ร้ายฝั่งนาค หรือถ้อยคำจากฝั่งนาคที่ปกป้องตนเอง โดยปกติแล้วความเป็นผีกับสังคมมักจะเริ่มขึ้นจากการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มโจมตีอีกฝ่ายก่อน ไม่คนรังควาญผี ก็ผีรังควาญคน แต่จากที่เห็นตลอดทั้งเรื่องแทบจะไม่มีครั้งไหนที่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าฝ่ายไหนรังควาญใครเลย แต่มีอย่าวหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดว่าตัวละครเกือบทุกคนนั้นโกหกเพื่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนาคหรือมากที่โกหกเพื่อที่จะได้อยู่กับคนที่ตนเองรัก รวมถึงความกำกวมที่ไม่ชัดเจน และจนสุดท้ายแล้วคนที่เดือดร้อนและเหนื่อยที่สุดก็คือคนธรรมดาทั้งสี่คนที่ต้องวิ่งวุ่น เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดีก่อนที่สุดท้ายจะจบลงที่การเลือกลงหลักปักฐานที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน
เช่นเดียวกับชาวบ้านที่มองในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว นอกจากพวกเขาจะเป็นวัตถุที่น้อยครั้งจะมีสิทธิมีเสียงหรือความรู้สึก มันยังแฝงไปด้วยกลุ่มชาวบ้านที่ “อะไรก็ได้” อยู่มากมายอยู่ฉากหลัง พวกเขาไม่เลือกสนใจว่าใครเป็นฝั่งผีหรือฝั่งคน พวกเขาต่างดำเนินชีวิตไปได้อย่างไม่ยี่หระต่อเรื่องราวที่เกิด แม้มันจะไม่ได้พุ่งประเด็นอย่างเห็นได้ชัด แต่ฉากการเดินงานวัดที่มากเดินกับนาคได้อย่างสบายใจเฉิบนั้นก็สามารถโยงเข้ากับตรงจุดนี้ได้ และมันก็ตอกย้ำประเด็นหนึ่งก็คือหากไม่มีใครรู้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นมันก็จุดที่น่าสนใจตรงที่นาคเองก็ใช้ความหวาดกลัวของชาวบ้านหรือ “พลังอำนาจ” ของตนเองเพื่อประโยชน์ของตัวเองเป็นเสียส่วนใหญ่ ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นในช่วงท้ายเรื่องที่มีการใช้พลังนั้นในรูปแบบของการถ้อยทีถ้อยอาศัย
หากจะเอ่ยว่า พี่มาก พระโขนง นั้นเป็นการตีความแม่นาคพระโขนงก็ย่อมได้ หรือจะบอกว่ามันคือการนำแม่นาคพระโขนงมาปู้ยี้ปู้ยำก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามมันก็เป็นจุดที่น่าสนใจตรงที่ว่าการแต่งเสริมเรื่องราวรวมถึงการเชื่อมโยงกระเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากกว่าที่จะยึดติดกับเรื่องราวเดิมนั้นจะสามารถไปได้ไกลหรือทำให้ผู้คนยอมรับได้มากแค่ไหน แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าการที่การดัดแปลงเช่นนี้สามารถรอดพ้นมาได้เพราะชื่อเสียงบารมีของค่ายหนังหรือเปล่า แต่การที่เห็นผู้ชมสามารถยอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ก็เป็นสัญญานอันดีที่หนังไทยจะสามารถนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่แฝงความร่วมสมัยมากขึ้นได้ (แต่หากไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าชื่อเสียงของค่ายหนังมีผลกระทบต่อทัศนคติของผู้ชมมากกว่าตัวหนังเสียอีก)
การตีความใหม่นี้นำเสนอไปถึงช่วงท้ายของหนังที่เดินเรื่องไปให้ไกลขึ้นจนถึงการเล่าเรื่องของปัญหาที่ตามมาและการแก้ไขปัญหา แม้ว่ามันจะเป็นการแก้ไขเพียงเปลือกนอกกับปัญหาที่สามารถก่อความเลวร้ายที่สุดหยั่งคาดได้ในอนาคตก็ตาม (เพราะถ้ามันไม่ใช่หนังตลก มันก็คงไม่สามารถทำให้ผู้ชมยอมรับกับการแก้ไขปัญหาที่หนังแสดงออกมาได้ และไม่ใช่จุดเดียวเท่านั้น หลายต่อหลายครั้งที่หนังเรื่องนี้แก้ไขปัญหาที่จริงจังโดยการทำเป็นตลกกลบเกลื่อนไป)
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการแสดงของมาริโอ้ เมาเร่อและใหม่ ดาวิกา ที่บทบาทของทั้งคู่นั้นสามารถเข้ารอยกับบุคลิกของแต่ละคนได้อย่างน่าสนใจ และมันก็ทำให้หนังน่าเชื่อถือและผู้ชมก็เชื่อบทบาทของตัวละครที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของมาก ชายหนุ่มที่เป็นหนุ่มขี้อ้อนติดเมีย ดูพึ่งพาตนเองไม่ได้ ในขณะที่นาคเป็นสาวสวยที่เต็มไปด้วยความแข็งแกร่งและน่าเกรงขาม ซึ่งพื้นฐานของตัวละครหลักสองคนนี้ค่อนข้างแน่นชัดมากกว่าตัวละครที่เหลืออีกที่สี่คนที่เหมือนเป็นตัวช่วยในการดำเนินเรื่อง แม้ว่าบางตัวละครจะมีลักษณะเด่นที่ค่อนข้างชัด แต่เพราะมีการสลับบทบาทหรือตำแหน่งของเรื่องในรูปแบบยังไงก็ได้ตลอดเวลาเพื่อให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ ก็เกือบหวิดทำให้ตัวละครทั้งสี่นั้นกลายเป็นอีกหนึ่งวัตถุไม่ต่างจากตัวประกอบที่เป็นวัตถุอย่างปิง พี่ที่บ้านผีสิง หรือ หลวงพ่อ ไปเหมือนกัน
แม้จะครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ประเด็นที่อยู่ในหนัง ไม่ว่าจะตั้งใจแอบแฝงหรือไม่ มันดูมีพลังและน่าจดจำไปต่อยอดมากกว่าประเด็นความรักในเรื่องที่ดูพยายามลากไปยังจุดที่ตนเองต้องการได้ ช่วงท้ายของหนังจึงดูพยายามมากจนเกือบจะกลายเป็นการเปิดโฆษณาชวนเชื่อกับผู้ชม มากกว่าการนำเสนอที่กลมกล่อมให้ผู้ชมยอมรับจากหัวใจ
ที่มาบทความ http://www.filmzick.com และขอบคุณรูปภาพจาก อากู๋
โดยส่วนตัวของ admin ชอบประโยค "มาเล่นกันเถอะ" เพื่อนๆ คนไหนยังไม่ไปดูรีบไปดูเลยนะครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น